LDL cholesterol คืออะไร?




คอเลสเตอรอลคืออะไร?
คอเลสเตอรอล (Cholesterol) เป็นไขมันที่มีความจำเป็นสำหรับเซลต่างๆของร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเซลสมอง เซลประสาท ร่างกายสามารถสังเคราะห์ไขมันนี้ได้เองที่ตับ (ผู้ป่วยโรคตับ หรือ มะเร็ง จึงมีคอเลสเตอรอลต่ำ) และ ได้จากอาหารด้วย อาหารที่มีไขมันคอเลสเตอรอลสูง ได้แก่ อาหารมันๆต่างๆ โดยเฉพาะที่ได้จาก ไขมันสัตว์ เช่น เนื้อติดมัน หมูติดมัน หมูสามชั้น ข้าวมันไก่ ขาหมู เครื่องใน หนังเป็ด หนังไก่ ไข่แดง ไข่ปลา กุ้ง ปลาหมึก หอยนางรม แกงกะทิ เป็นต้น เมื่อไปเจาะเลือดเพื่อตรวจคอเลสเตอรอล ส่วนใหญ่จะเป็นการตรวจ คอเลสเตอรอลรวม (Total cholesterol) แต่ความจริงแล้ว ยังมีคอเลสเตอรอลย่อยๆอีก คือ แอล-ดี-แอล (LDL-Cholesterol) วี-แอล-ดี-แอล (VLDL-Cholesterol) เอช-ดี-แอล (HDL-Cholesterol)

LDL คืออะไร?
LDL (low density lipoprotein) หรือที่เรียกกันว่าไขมันไม่ดีเป็นคอเลสเตอรอลชนิดหนึ่งในร่างกายซึ่งเป็นไขมันที่มีความหนาแน่นต่ำ เนื่องจากโคเลสเตอรอลในร่างกาย ประกอบขึ้นจากไขมันหลายชนิด ได้แก่แอลดีแอล. (LDL), เอ็ชดีแอล ( HDL), ไตรกลีเซอไรด์ (Tg) โดยสัดส่วนของไขมันต่างๆที่ประกอบกันขึ้นเป็นโคเลสเตอรอลรวมมีดังนี้  
โคเลสเตอรอลรวม = LDL + HDL + (ไตรกลีเซอไรด์ / 5 )


(เพิ่มเติม: กฎ 5 ข้อของการเบิร์นไขมันอย่างรวดเร็ว)

ทำไมจึงว่า LDL เป็นไขมันชนิดไม่ดี
เพราะว่าระดับ LDL ในเลือด มีความสัมพันธ์ชัดเจนกับการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด ไขมัน LDL ทำหน้าที่เป็นตัวนำโคเลสเตอรอลทั้งหลายออกจากตับเข้าสู่กระแสเลือด เมื่อเซลล์เลือกใช้โคเลสเตอรอลที่ต้องการไปแล้ว โคเลสเตอรอลที่เหลืออยู่ในกระแสเลือดก็จะพอกเป็นตุ่มอยู่ที่ผนังของหลอดเลือดทำให้หลอดเลือดแข็ง ตีบ นานไปตุ่มเหล่านี้ปริแตกออกทำให้มีลิ่มเลือดเข้ามาผสมโรงพอกจนอุดตันหลอดเลือด ผลตามมาคืออวัยวะสำคัญที่ต้องอาศัยเลือดจากหลอดเลือดเช่นหัวใจ สมอง ไต เกิดขาดเลือดไปเลี้ยง กลายเป็นโรคเช่น หัวใจขาดเลือด อัมพาตอัมพฤกษ์ ความดันเลือดสูง ไตวาย เป็นต้น






LDL มาจากไหน
LDL มาจากอาหาร นั่นเป็นของแน่ อาหารที่เพิ่ม LDL แบ่งได้เป็นสองกลุ่ม คือ

1. อาหารจำพวกไขมันอิ่มตัว (saturated fat) หมายถึงไขมันจากสัตว์เช่นเนื้อ หมู ไก่ (ยกเว้นปลา) นอกจากเนื้อสัตว์ตรงๆอย่างเนื้อ หมู ไก่ แล้ว ยังมาในรูปอื่นเช่น ไข่ นมโฮลมิลค์ เนย ชีส ไอศกรีม เค้ก คุ้กกี้ น้ำสลัดสำเร็จรูป เป็นต้น นอกจากนี้ไขมันอิ่มตัวยังได้มาจากพืชสกุลปาลม์เช่น น้ำมันปาลม์ น้ำมันมะพร้าว
ที่มันได้ชื่อนี้ก็เพราะโมเลกุลของมันซึ่งประกอบด้วยออกซิเจน ไฮโดรเจน และคาร์บอนนั้น จับเรียงตัวกันแบบ “อิ่มตัว” คือจับกันแน่นจนไม่มีช่องว่างที่จะทำปฏิกริยากับโมเลกุลอื่นได้อีกแล้ว

การเป็นไขมันอิ่มตัว เป็นคนละประเด็นกับการเป็นโคเลสเตอรอลหรือไม่ ยกตัวอย่างเช่นน้ำมันปาลม์ น้ำมันมะพร้าว ไม่ใช่โคเลสเตอรอล และไม่มีส่วนประกอบที่เป็นโคเลสเตอรอล เพราะพืชทุกชนิดไม่มีโคเลสเตอรอล แต่น้ำมันปาลม์และน้ำมันมะพร้าวเป็นไขมันอิ่มตัว เมื่อบริโภคเข้าไปแล้วก็มีผลเพิ่ม LDL ในเลือดเช่นเดียวกับไขมันอิ่มตัวจาก เนื้อ หมู ไก่ เช่นกัน เนื่องจากไขมันอิ่มตัวเป็นไขมันที่ไม่ดีต่อร่างกาย กฎหมายจึงบังคับให้ฉลากอาหารบอกว่ามีไขมันอิ่มตัวเป็นส่วนประกอบอยู่ในอาหารนั้นเท่าไร  


(เพิ่มเติม: ควรมีคลอเรสเตอรอลเท่าไร ถึงจะเรียกว่าสุขภาพดี)

2.  อาหารจำพวกไขมันทรานส (trans fat) เป็นไขมันไม่อิ่มตัว (unsaturated fat) ชนิดหนึ่ง แต่ไม่ใช่ไขมันไม่อิ่มตัวธรรมดา เพราะไขมันไม่อิ่มตัวทั่วไปเช่นน้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันรำ น้ำมันมะกอก ซึ่งเป็นไขมันที่ดีต่อสุขภาพ จะมีการเรียงตัวของอะตอมของไฮโดรเจนในโมเลกุลไขมันแบบหันไปทางเดียวกัน หรือแบบซิส (cis fat)  แต่ไขมันแบบ ทรานส์จะเรียงตัวแบบหันไปคนละทาง ในธรรมชาติไขมันชนิดนี้พบได้ในสัตว์เคี้ยวเอื้องเช่นวัว ควาย แต่ที่มาเป็นอาหารของเราส่วนใหญ่เกิดจากอุตสาหกรรมอาหาร ที่จงใจใช้กระบวนการเติมอะตอมไฮโดรเจนเข้าไปในเพื่อเปลี่ยนเอาไขมันไม่อิ่มทั่วไปให้กลายเป็นไขมันทรานส์ เพื่อให้มันมีคุณสมบัติแข็งเป็นไข จะได้เอาไปทำเนยเทียมหรือเอาไปเคลือบอาหารสำเร็จรูปได้ง่ายขึ้น อาหารที่มีไขมันทรานส์มากได้แก่ขนมอบ หรือเบเกอรีที่มีมาการีนเป็นส่วนประกอบ ครีมเทียม คอฟฟี่เมท  อาหารอบ  อาหารทอด ขนมกรุบกรอบต่างๆ  เป็นต้น

ปัจจุบันนี้ในยุโรปและอเมริการมีกฎหมายบังคับให้บอกที่ฉลากว่าอาหารนั้นมีไขมันทรานส์อยู่เท่าใด แต่เมืองไทยยังไม่มีกฎหมายนี้ กฎหมายไทยบังคับให้บอกเฉพาะไขมันอิ่มตัว ดังนั้นเมื่ออ่านฉลากอาหารที่มีไขมันทรานส์จะไม่เจอคำเตือนใดๆเพราะไขมันทรานส์มาจากไขมันไม่อิ่มตัว
ไขมันทรานส์นี้ เมื่อบริโภคเข้าไปแล้วจะไปทำให้โคเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL) ในร่างกายสูงขึ้น และไปทำให้ไขมันชนิดดีในร่างกาย (HDL) ต่ำลง จึงจัดเป็นไขมันที่มีผลเสียต่อร่างกายสองเด้งเลยทีเดียว

ระดับ LDL ในร่างกายเท่าใดจึงจะพอดี
โครงการศึกษาโคเลสเตอรอลแห่งชาติอเมริกัน (NCEP) กำหนดมาตรฐานระดับของไขมัน LDL ในเลือดดังนี้


ปริมาณ
เกณฑ์
น้อยกว่า 100 mg/dl
พอดี (optimal)
100 – 129
เกินพอดี (above optimal)
130-159
สูงคาบเส้น (borderline high)
160-189
สูง (high)
มากกว่า 190  
สูงมาก (very high)

และ NCEP ยังได้แนะนำเกณฑ์ว่าใครควรจะเริ่มปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต (ออกกำลังกายและคุมอาหารอย่างเข้มงวด) เมื่อไร และควรจะเริ่มต้นใช้ยาลดไขมันเมื่อใด ตามความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจหลอดเลือดของแต่ละคน ดังนี้

จะลดระดับ LDL ในร่างกายได้อย่างไร
วิธีที่พิสูจน์แล้วว่าได้ผลต่อการลด LDL คือ

1. การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ทั้งแบบแอโรบิก(aerobic) แบบยืดหยุ่น(flexibility)  และแบบเพิ่มความแข็งแรงกล้ามเนื้อ (Strength training) โดยให้ได้เวลาออกกำลังกายรวมไม่ต่ำกว่าสัปดาห์ละ 150 นาที การออกกำลังกายนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก

2. การลดอาหารไขมันอิ่มตัว ทั้งไขมันอิ่มตัวจากสัตว์เช่นเนื้อ หมู ไก่ และไขมันอิ่มตัวจากพืชเช่นน้ำมันปาล์ม นอกจากนี้ยังต้องระวังไขมันอิ่มตัวที่มาในรูปอื่นเช่น ไข่ นมโฮลมิลค์ เนย ชีส ไอศกรีม เค้ก คุ้กกี้ น้ำสลัดสำเร็จรูป เป็นต้น


(เพิ่มเติม: เปอร์เซ็นต์ไขมันในร่างกาย: ผู้ชาย)
(เพิ่มเติม: เปอร์เซ็นต์ไขมันในร่างกาย: ผู้หญิง)

3. การลดอาหารไขมันทรานส์ ได้แก่เนยเทียมที่ทำจากไขมันทรานส์ ขนมอบหรือเบเกอรีที่มีมาการีนเป็นส่วนประกอบ ครีมเทียม คอฟฟี่เมท  อาหารอบ  อาหารทอด ขนมกรุบกรอบต่างๆ  เป็นต้น ไขมันทรานส์นี้ในเมืองไทยบางครั้งจะเขียนข้างฉลากว่าเป็นไขมันไม่อิ่มตัว เพราะเมืองไทยไม่มีกฎหมายบังคับให้ติดฉลากบอกว่ามีไขมันทรานส์หรือไม่ ทำให้เข้าผิดได้ง่ายว่าเป็นไขมันไม่อิ่มตัวชนิดธรรมดาเช่นน้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันมะกอก ซึ่งดีต่อสุขภาพ ดังนั้นผู้บริโภคจึงต้องรู้จักแยกแยะให้ดี

4. การเพิ่มอาหารเส้นใยชนิดละลายได้อาหารกาก หรืออาหารเส้นใย (fiber) แบ่งออกเป็นสองชนิดคือชนิดไม่ละลาย (insoluble) เช่นพืชผักต่างๆ กับชนิดละลายได้ (soluble) ซึ่งได้จากธัญพืชทั้งเมล็ด หรือจากส่วนเคลือบรอบนอกเมล็ดของธัญพืชแบบไม่ขัดสี (whole grain) เช่น ข้าวซ้อมมือ ข้าวกล้อง โอ๊ตแบรนด์ ข้าวสาลีแบบโฮลวีท งานวิจัยในอาสาสมัครพบว่าเส้นใยชนิดละลายได้นี้ ช่วยลดไขมัน LDL ลดไตรกลีเซอไรด์ และเพิ่มไขมัน HDL  






5. การลด ละ เลิก แอลกอฮอล์ เนื่องจากการดื่มแอลกอฮอล์มากมีผลเพิ่มไขมันในเลือด รวมทั้งไขมัน LDL

6. การใช้ยาลดไขมัน ซึ่งต้องใช้โดยคำสั่งของแพทย์ เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นยาที่มีพิษต่อตับ ต้องมีการติดตามดูในระหว่างการใช้ยาอย่างใกล้ชิด โดยทั่วไปแพทย์จะตัดสินใจใช้ยาก็ต่อเมื่อการพยายามปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตด้วยการปรับอาหารและออกกำลังกายอย่างเข้มงวดเป็นเวลานานไม่น้อยกว่า 3 เดือนแล้วไม่ได้ผล หมายถึงยังคงมีระดับ LDL สูงถึงระดับที่ NCEP แนะนำว่าควรรักษาด้วยยา  



Author

Written by Admin

สนใจลงโฆษณาติดต่อ eimebox@gmail.com

ปรึกษาเกี่ยวกับการควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย ดูแลสุขภาพได้ที่เพจ

Everyday I'm Exercising

0 ความคิดเห็น: